โรงพยาบาลวิมุต สถาบันประสาทวิทยา และ Agnos health ร่วมทดสอบการใช้งาน ‘AN AN Bot’ AI ช่วยตอบคำถามผู้ป่วย

0
38

การพัฒนา AI แชทบอทสำหรับใช้งานในธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพ ความซับซ้อนมากกว่าในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากต้องทำงานกับข้อมูลผู้ป่วยที่ละเอียดอ่อน และข้อมูลทางการแพทย์จำเป็นต้องมีความถูกต้องและผิดพลาดน้อยที่สุด

Agnos Health บริษัทสตาร์ทอัปจาก โครงการ Accelerate Impact with Pruksa ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ และมีประสบการณ์พัฒนาระบบ AI คัดกรองโรคด้วยตัวเอง มากกว่า 5 ปี มีการใช้งานจริงกว่า 5 แสนครั้ง ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลวิมุต โรงพยาบาลในเครือ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน) และ สถาบันประสาทวิทยา (Neurological Institute of Thailand) ร่วมทดสอบการใช้งาน ‘AN AN Bot’ (อันอัน บอท) เป็น AI medical chatbot เพื่อช่วยให้คำปรึกษา ตอบคำถามเบื้องต้นให้ผู้ป่วย เป็นตัวช่วยให้เจ้าหน้าที่ได้ บริการผู้ป่วยได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย ความร่วมมือนี้ได้รับการสนับสนุนจากทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ และคาดว่าจะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในต้นปี 2025

ทพญ.อรชร ทองบุราณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการดิจิทัลทางการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันทางสถาบันมีปัญหาขาดแคลนบุคคลากร โดยเฉพาะพยาบาล และเจ้าหน้าที่มีหน้าที่หลายอย่างทำให้ไม่มีเวลาตอบแชทผู้ป่วย ตอบได้เฉพาะเวลาทำการ ซึ่งบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อทำงานตอบแชทผู้ป่วยให้เสร็จ อยากนำระบบของ Agnos เข้ามาเพื่อลดงานคัดกรองอ่านไลน์ผู้ป่วย และจัดกลุ่มไลน์ รวมถึงจัดลำดับความสำคัญของไลน์ผู้ป่วย เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่มีเวลาทำงานอย่างอื่น และจดจ่อกับกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะได้ และช่วยทำให้ประสบการผู้ใช้บริการดีขึ้น รวมถึงเชื่อมช่องทางสื่อออนไลน์ อื่นๆ ที่ทางสถาบันประสาทมี

และยังคาดหวังไว้ว่าการร่วมพัฒนา AN AN Bot นี้จะสามารถช่วยให้ระบบ AI คัดกรองกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันจะเป็นการนัดตรวจออนไลน์ รับยาออนไลน์หรือเลื่อนนัดเป็นหลัก แต่จำนวนหนึ่ง มีผู้ป่วยปรึกษาปัญหาผ่านระบบนี้เช่นกัน โดยความคาดหวังสูงสุดในความร่วมมือนี้ คือการที่ระบบ AI สามารถให้คำแนะนำทางการแพทย์อื่นๆ บนพื้นฐานวิชาการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับทางระบบประสาท และสามารถแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ กรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาต่างๆ มาปรึกษา เช่น อาการกำเริบ ผลข้างเคียงจากการรักษาเป็นต้น เพราะทางสถาบันประสาท มีการใช้ Line OA ในการติดตามอาการผู้ป่วยในบางราย ที่สำคัญคือ ต้องมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และเป็นไปตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ด้าน นางสาวสุรวีย์ ชัยธำรงค์กูล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาล วิมุต โฮลดิ้ง จำกัด  กล่าวว่า โรงพยาบาลวิมุตมีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับทาง สถาบันประสาทวิทยา และ Agnos health ในการพัฒนา AI medical chatbot นี้สำหรับใช้งานในธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยมีความคาดหวังที่จะเข้าไปช่วยเหลือสถาบันประสาทในการระบายยอดผู้ใช้บริการที่ตอนนี้นับว่ามีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เกิดความล่าช้า และความไม่สะดวกสบายเท่าที่ควร เราได้ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ ที่ก่อตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของคุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ที่เข้ามาสนับสนุนโครงการนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาและเข้ามาส่งเสริมสังคมให้อยู่ดี มีสุข ตามความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยเหลือเพื่อลดขั้นตอน และกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนไทยได้มีสุขภาพที่ดี ที่เข้าถึงบริการได้อย่างเต็มที่

ระบบ AN AN Bot สามารถเชื่อมต่อกับระบบแชทช่องทาง ทั้ง LINE OA, Facebook messenger, หรือ แอปพลิเคชันต่างๆ สามารถเชื่อมระบบฐานข้อมูลเฉพาะของโรงพยาบาล เพื่อตอบคำถามได้ถูกต้องแม่นยำอาทิ เช่น ข้อมูลแพทย์ และตารางออกตรวจแพทย์ ข้อมูลทั่วไปก่อนการเข้ารับบริการ ข้อมูลแผนกตรวจ ข้อมูลก่อนการเข้ารักษา สามารถช่วย ทำนัดหมาย ช่วยคัดกรองอาการเบื้องต้น ทั้งยังสามารถช่วยส่งต่อผู้ป่วยรายที่ต้องการปรึกษาเร่งด่วนให้กับเจ้าหน้าที่ดูแลต่อได้อีกด้วย

ความโดดเด่นของ AN AN Bot จาก Agnos คือ

  1. เป็นเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่มีข้อมูลสนับสนุนด้วยฐานความรู้ทางการแพทย์จำนวนมาก (Medical knowledge base) และผ่านการฝึกฝนอย่างแม่นยำ 
  2. สามารถปรับแต่งฐานข้อมูลเฉพาะตามแต่สถานพยาบาลได้ เพื่อการพูดคุยที่ตอบสนองความต้องการแบบเฉพาะเจาะจง (Customised knowledge base)
  3. เชื่อมต่อเข้ากับทั้งประสบการณ์ของผู้ป่วยอย่างสมบูรณ์แบบ (Fully integrated patient journey) สามารถทำนัดอัตโนมัติ ลงทะเบียนล่วงหน้า เช็คสถานะการรับบริการได้ ไปจนถึงรับสรุปคำแนะนำหลังได้เข้าพบแพทย์แล้วอีกด้วย
  4. ระบบรวบรวมทุกช่องทางสนทนาออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ให้เจ้าหน้าที่สามารถ ควบคุมการโต้ตอบได้จากช่องทางเดียว (Omni-channel)

ดร. ปพนวิช ชัยวัฒโนดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอ็กนอสเฮลท์  กล่าวปิดท้ายว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญสำหรับ Agnos ในการขยายการให้บริการระบบ AI ให้ดูแลผู้ป่วยได้กว้างขึ้น ครอบคลุมการให้บริการของสถานพยาบาลอย่างครบวงจร ตามเป้าหมายของ Agnos ที่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการให้บริการด้านสุขภาพของไทย เสริมประสิทธิภาพการดูแลลูกค้าและผู้ป่วยแบบ 24 ชั่วโมง ช่วยเพิ่มความพึงพอใจของผู้รับบริการ  ทั้งยังสามารถลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยช่วยในการตอบคำถามที่พบบ่อย ด้วยข้อมูลที่แม่นยำ”

สำหรับสถานพยาบาลที่สนใจ สามารถติดต่อเพื่อนำเสนอบริการได้ผ่านทาง https://www.agnoshealth.com

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

3 × 3 =