“เอ็นไอเอ” เปิดความฉลาดรู้บนย่านนวัตกรรมอารีย์ กับ 5 ไอเดียนวัตกรรมทำย่านให้ “อารี” ต่อทุกไลฟ์สไตล์ – แอคทิวิตี้ ย่านที่มีดีมากกว่าแหล่งแฮงก์เอาท์

0
687

หากพูดถึง ”อารีย์” ทุกคนคงคุ้นเคยกับการเป็นย่านแห่งไลฟ์สไตล์ และเป็นแลนด์มาร์คที่รวมไว้ทั้งที่อยู่อาศัย บริษัท ชั้นนำ ศูนย์การค้า จุดเช็คอินเก๋ ๆ หรือแม้แต่กระทั่งสถานที่ราชการไว้อย่างลงตัว ซึ่งความครบครันดังกล่าวนี้ ส่งผลให้พื้นที่อารีย์มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญดึงดูดให้ทุกคนเข้ามาสร้างโอกาส และนำสิ่งใหม่ ๆ มาสู่พื้นที่ จนทำให้ครั้งหนึ่งในปี 2021 ได้รับการจัดอันดับจาก “Time Out Coolest Neighborhoods in the World 2021” ให้เป็นย่านที่น่าอยู่ที่สุดในกรุงเทพฯ และติดอันดับ 47 ย่านที่เจ๋งที่สุดในโลกเลยทีเดียว

และต้องบอกว่าภาพจำของอารีย์ไม่ได้มีแค่ความฮิป ความคูล หรือแหล่งรวมอาหารอร่อย ๆ ไว้บนย่านเท่านั้น แต่จากความหลากหลายที่มีได้ทำให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ สตาร์ทอัพ ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจ ผลิต คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้ย่านเต็มไปด้วยความว้าวจากนวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกชีวิต อีกทั้งยังทำให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และกรุงเทพมหานคร มีเป้าหมายตรงกันที่จะยกระดับให้อารีย์กลายเป็น “ย่านนวัตกรรมอารีย์” ที่มีความโดดเด่นในด้าน อารีเทค (ARI Tech) ได้แก่ AI, Robotics , Immersive และ IoTs ย่านแรกของประเทศไทย เพื่อให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ สร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ พร้อม ๆ กับการพัฒนา “เมืองฉลาดรู้ (Cognitive City)” ส่งต่อความ “โอบอ้อมอารี” ต่อการลงทุน การใช้ชีวิต และยังดึงทุกคนที่มีศักยภาพทางนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาย่าน ทั้งนี้ มีตัวอย่างจากการจัดกิจกรรมประกวดออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาย่านอารีย์ให้ น่าอยู่ (ARID Hackathon 2023: Innovation for well-being) ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ทดลองนวัตกรรมใน 3 ประเด็นสำคัญของ ย่านอารีย์ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการเชื่อมต่อการสัญจร และด้านความปลอดภัย โดยมีไอเดียที่น่าสนใจ และพร้อมต่อยอดในอนาคตดังนี้

ทีม PARK 😀 กับไอเดียด้านการเชื่อมต่อสัญจร สร้างแพลตฟอร์มเปิดพื้นที่ใช้ที่จอดรถแบบ “Parking Lot – Sharing” ลดปัญหาค่าที่จอดรถแพง

ย่านอารีย์ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ศูนย์รวมของไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะกิน ช้อป เที่ยว หรือทำงาน ก็มีให้ครบจบในย่านเดียว ทำให้ค่าที่จอดรถในพื้นที่มีราคาสูง อยู่ที่ 50 – 100 บาทต่อชั่วโมง หรือหากเป็นพนักงานออฟฟิศจะมีรายจ่ายค่าที่จอดรถ 4,500 บาทต่อเดือน จึงเกิดเป็นไอเดียที่จะสร้างแพลตฟอร์ม PARK 😀 นวัตกรรมที่ช่วยบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดการใช้ที่จอดรถแบบ “Parking Lot – Sharing” เพราะที่จอดรถ 1 ที่ มีเวลาการใช้ต่างกัน เช่น ที่จอดรถของสำนักงานที่มักจะว่างช่วงเสาร์อาทิตย์ ที่จอดรถของคอนโดที่มักจะว่างช่วงกลางวัน หรือบ้านที่มีที่จอดรถหลายคันแล้วไม่ได้ใช้ หากนำมาพัฒนาผ่านแพลตฟอร์มทำเป็นที่ จอดรถปล่อยเช่าก็จะก่อให้เกิดรายได้โดยที่ไม่ต้องลงทุน เนื่องจากเรามีที่จอดรถอยู่แล้ว ถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์

โดยหลังจากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากกิจกรรม ARID Hackathon 2023: Innovation for well-being ทางทีมได้นำ ไอเดียจากการประกวดไปพัฒนาต่อ โดยการลงพื้นที่ไปศึกษาตลาดจริง ร่วมกับการทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็นจากชุมชนอารีย์ เกี่ยวกับการพัฒนาแพลตฟอร์มเปิดพื้นที่ใช้ที่จอดรถแบบ “Parking Lot – Sharing” พบว่า พนักงานออฟฟิศที่ร่วมตอบแบบสอบถามสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ 92% ส่วนผู้ที่มาท่องเที่ยวย่านอารีย์สนใจเข้าร่วมโครงการ 100% ซึ่งนวัตกรรมจากทีม PARK 😀 จะนำมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมต้นแบบ (prototype) เพื่อทดสอบทดลองในพื้นที่ย่านอารีย์ต่อไปในอนาคต ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนของการนำไอเดียเข้าสู่แพลตฟอร์มเปิด เพื่อให้คนที่มีพื้นที่จอดรถ และให้คนที่ต้องการเช่า ที่จอดรถมาร่วมลงชื่อ โดยมีแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นตัวกลางข้อมูลที่จะสกรีนเรื่องระบบความปลอดภัย ดังนั้น หากไอเดียนี้สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นได้จริง ก็จะช่วยให้คนในชุมชนสามารถที่จะแชร์ทรัพยากรของชุมชนได้จริงเช่นกัน

ทีม VPK กับไอเดียด้านการเชื่อมต่อสัญจร พัฒนาแพลตฟอร์ม ARI-Parking ตรวจจับที่จอดรถผ่านกล้องวงจรปิด

ด้วยพื้นที่ที่มีอยู่จำกัด ทำให้คนที่มาเยือนต้องเสียเวลามหาศาลในการหาที่จอดรถในย่านอารีย์ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกำลังจะได้รับการแก้ไข ด้วยไอเดียพัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์ม ARI – Parking ระบบตรวจจับที่จอดรถที่ว่างผ่านกล้องวงจรปิดด้วยระบบ Object detection หลักการทำงาน คือ เมื่อกล้องวงจรปิดตรวจจับรถที่สัญจรในย่านอารีย์เป็นวิดีโอ และส่งวิดีโอที่บันทึกได้ขึ้น Cloud เพื่อให้ super computer อย่าง AI และระบบ Object Detection ทำการตรวจสอบว่าตรงนั้นมีที่จอดรถว่างหรือไม่ หากมีที่ว่าง ระบบจะส่งข้อมูลที่จอดรถกลับมายังเซิฟเวอร์ และแสดงผลให้ผู้ใช้งานตรวจสอบที่จอดรถที่ยังว่างอยู่ได้แบบรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลา วนรถหาที่จอดให้สิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิง

ทีม NMS_Runking กับไอเดียด้านความปลอดภัย พัฒนา LPR SMART ARID นำ AI ช่วยตรวจจับ เฝ้าระวังอุบัติเหตุ – โจรกรรมในย่าน

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญ ดังนั้น การมีนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด โดยใช้อุปกรณ์ เช่น Google Drive / Raspberry Pi / Webcam เชื่อมต่อเข้ากับกล้อง 2 ตัว กล้องตัวที่หนึ่งจะใช้จับภาพในมุมสูงเพื่อดู การเคลื่อนไหวของรถ ตรวจจับอาวุธ หรือเฝ้าระวังพฤติกรรมของคนในบริเวณที่ได้ติดตั้งกล้องไว้ หากเกิดอุบัติเหตุทางจราจร การปล้นทรัพย์ภายในย่าน LPR SMART ARID จะทำการแจ้งเตือนไปยังประชาชน และหน่วยงานผ่านแอพพลิเคชัน
ในสมาร์ทโฟน หรือ จอ HMI ที่ตั้งอยู่ตามคาเฟ่ต่าง ๆ เพื่อให้ช่วยกันเฝ้าระวังและลดอันตรายภายในย่าน นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจสอบและดูภาพ ข้อมูล เวลาที่เกิดเหตุ ย้อนหลังได้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ส่วนกล้องตัวที่ 2 จะทำหน้าที่ตรวจสอบทะเบียนรถ หากพบรถไม่ติดป้ายทะเบียนเข้ามาในพื้นที่ ก็จะมีการเก็บข้อมูลส่งเข้าในระบบแบล็คลิสต์ เป็นการตรวจสอบเพื่อให้คนในพื้นที่และย่านอารีย์มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุทางจราจร การปล้นทรัพย์ภายในย่าน

ทีม Bin Bin กับไอเดียด้านสิ่งแวดล้อม ดึงนวัตกรรมช่วยบริหารจัดการขยะ สร้างชุมชมน่าอยู่สู่ย่านอารีย์

ย่านอารีย์สร้างขยะมูลฝอยกว่า 210 ตันต่อวัน แบ่งเป็น ขยะจากสำนักงาน 83 ตันต่อวัน จากพาณิชยกรรม 72 ตันต่อวัน และจากที่อยู่อาศัย 55 ตันต่อวัน จากปัญหาดังกล่าวจึงเกิดเป็นไอเดียทีจะสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคม ระบบการจัดการขยะและเชื่อมโยงโครงข่ายด้วย Bin Bin Smart Waste Management Innovation ขึ้น เพื่อทำหน้าที่แจ้งเตือนการเก็บขยะ ติดตามปริมาณขยะ และบริหารจัดการขยะในย่าน ตั้งแต่ต้นน้ำ การมีถังที่สามารถใช้งานได้ง่ายต่อการแยกขยะ กลางน้ำ การนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามารับขยะที่แยกไว้แล้วกระจายไปเก็บตามศูนย์ จนถึงปลายน้ำ เป็นการให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการกำจัดขยะรูปแบบต่าง ๆ เช่น ขยะกำพร้า ขยะรีไซเคิล ขยะเศษอาหาร ไปจัดการอย่างถูกวิธีมากที่สุด และนำขยะรีไซเคิลไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ผ่านการสร้างเครือข่ายของหน่วยงานที่มีอยู่แล้วมาเชื่อมโยงช่วยกันจัดการขยะ เพื่อทำให้ย่านอารีย์เป็นชุมชนที่น่าอยู่อาศัยของผู้คนในย่าน

ทีมเอลล่าอารีย์ (ELLA ARI) กับไอเดียด้านสิ่งแวดล้อม พัฒนานวัตกรรมระบบแจ้งเตือนรถขยะเข้าพื้นที่

ด้วยสภาพภูมิทัศน์ของย่านอารีย์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นซอยแคบทำให้รถขยะเข้าถึงพื้นที่ได้ยากลำบาก บวกกับการมีปัญหาขยะล้นทางเท้า หรือการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้ทีมเอลล่าอารีย์ มีแนวคิดที่จะพัฒนานวัตกรรม ELLA ARI TECHNOLOGY เชื่อมต่อสัญญาณ เมื่อรถขยะเข้ามายังพื้นที่ใกล้จุดทิ้งขยะประมาณ 25-30 เมตร จะทำการแจ้งเตือนผ่าน LINE Chatbot แบบเรียลไทม์ และอัปเดทข้อมูลเกี่ยวกับขยะและสภาพแวดล้อมในย่านอารีย์ ผ่านเทคโนโลยี IOT LINE Beacon
เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดปัญหาการจราจรติดขัดและความแออัดในย่านอารีย์ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาย่านนวัตกรรมสู่พื้นที่ทดลองนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ NIA ที่เห็นศักยภาพของพื้นที่ เพราะมีหลากหลายหน่วยงานเข้ามาพัฒนาพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเดินหน้าสร้างย่านอารีย์ให้เป็นเมืองฉลาดรู้จะสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผ่านการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการ ไปจนถึงคนไปชุมชน ให้เห็นถึงศักยภาพของย่านนี้มากขึ้น โดยมีนวัตกรรม ARI Tech เป็นเครื่องมือที่จะช่วยขับเคลื่อนย่านอารีย์ให้เติบโตแบบก้าวกระโดด ไม่แพ้สมาร์ทซิตี้เด่น ๆ ของโลก
อย่าง Hong Kong Smart City หรือ Fukuoka Smart City

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

nineteen − fifteen =